วันอังคารที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2557

คำพ่อสอน "เศรษฐกิจพอเพียง"

          "เศรษฐกิจพอเพียง" เป็นปรัชญาการดำเนินชีวิตที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานแก่พสกนิกรชาวไทยผ่านพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสในโอกาสต่างๆมาโดยตลอด ตั้งแต่่อนเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ และต่อมาภายหลังได้ทรงเน้นย้ำแนวทางการแก้ไขเพื่อให้สังคมไทยรอดพ้นจากวิกฤตที่เกิดขึ้น โดยให้สามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ที่เราต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆอยู่ตลอดเวลา
         
          เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาชี้ถึงแนวการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์

          ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควรต่อการมีผลกระทบใดๆอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน ทั้งนี้จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบและความระมัดระวังอย่างยิ่งในการนำวิชาการต่างๆมาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการทุกขั้นตอน และขณะเดียวกันจะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใตของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎีและนักธุรกิจทุกระดับให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติ ปัญญาและความรอบคอบ


เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเสมือนรากฐานของชีวิต รากฐานความมั่นคงของแผ่นดิน
 เปรียบเสมือนเสาเข็มที่ถูกตอกรองรับบ้านเรือนตัวอาคารไว้นั่นเอง สิ่งก่อสร้างจะมั่นคงได้  ก็อยู่ที่เสาเข็ม แต่คนส่วนมากมองไม่เห็นเสาเข็มและลืมเสาเข็มเสียด้วยซ้ำไป
*พระบรมราโชวาทพระราชทานผ่านมูลนิธิชัยพัฒนา

          การพัฒนาตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง คือ การพัฒนาที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของทางสายกลางและความไม่ประมาท โดยคำนึงถึง วามพอประมาณ ความมีเหตุผลและการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว ตลอดจนการใช้ความรู้ ความรอบคอบและคุณธรรมประกอบการวางแผน การตัดสินใจและการกระทำต่างๆ

"...คนเราถ้าพอในความต้องการก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อยก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย. ถ้าทุกประเทศมีความคิดอันนี้ ไม่ใช่เศรษฐกิจ มีความคิดว่า ทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่า พอประมาณ ไม่สุดโต่ง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข. พอเพียงนี้อาจจะมีมาก อาจจะมีของหรูหราก็ได้ แต่ว่าต้องไม่ปเบียดเบียนคนอื่น. ต้องให้พอประมาณตามอัตภาพ พูดจาก็พอเพียง ทำอะไรก็พอเพียง ปฏิบัติตนก็พอเพียง..." 
*พระราชดำรัสพระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆที่เข้าเฝ้าฯถวายชัยมงคล
เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
วันศุกร์ที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๑ 



         ความพอประมาณ หมายถึง ความพอดีที่ไม่มากและไม่น้อยจนเกินไป ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น

"...การรู้จักประมาณตน ได้แก่ การรู้จักและยอมรับตนเองว่าตนเองมีภูมิปัญญาและความสามารถในด้านไหน เพียงใด และควรจะทำงานด้านไหนอย่างไร. การรู้จักประมาณตนนี้จะทำให้คนเรารู้จักใช้ความรู้ความสามารถที่มีอยู่ได้ถูกต้องเหมาะสมกับงานและได้ประโยชน์สูงสุดเต็มตามประสิทธิภาพ ทั้งยังทำให้รู้จักขวนขวายศึกษาหาความรู้และเพิ่มพูนประสบการณ์อยู่เสมอ เพื่อปรับปรุง ส่งเสริมศักยภาพที่มีอยู่ในตนเองให้ยิ่งสูงขึ้น ส่วนการรู้จักประมาณสถานการณ์นั้น ได้แก่ การรู้จักพิจารณาสถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นให้ทราบชัดถึงความเป็นมาและที่เป็นอยู่ รวมทั้งที่คาดว่าเป็นไปในอนาคต. การรู้จักประมาณสถานการณ์ได้นี้จะทำให้สามารถวางแผนงานและปฏิบัติงานได้ถูก ตรงกับปัญหา ทันแก่สถานการณ์และความจำเป็น อันจะทำให้งานที่ทำได้ประโยชน์ที่สมบูรณ์คุ้มค่า. การรู้จักประมาณตนและรู้จักประมาณสถานการณ์ จึงเป็นอุปการะอย่างสำคัญที่จะเกื้อกูลให้บุคคลดำเนินชีวิตและกิจการงานไปได้อย่างราบรื่นและก้าวหน้า..."
*พระบรมราโชวาท
พระราชทานเพื่อเชิญไปอ่านในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วันเสาร์ที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๔๑

          
          ความมีเหตุผล หมายถึง การใช้หลักเหตุผลในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ โดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นอย่างรอบคอบ

"...ท่านจะต้องทำความคิดและจิตใจให้เปิดกว้าง แต่หนักแน่น มีเหตุผล มีวิจารณญาณ พร้อมกันนั้นก็ต้องมีความจริงใจ เห็นใจและเมตตาปรองดองกัน โดยถือประโยชน์ส่วนรวมร่วมกันเป็นวัตถุประสงค์เอก. ที่สำคัญอีกข้อหนึ่ง จะต้องพยายามขจัดความดื้อรั้น ถือตัว ความเห็นแก่ตัว เห็นแก่ประโยชน์ส่วนน้อยออกให้ได้ ไม่ปล่อยใ้ห้เข้ามาครอบงำทำลายความคิด จิตใจที่ดีงามของตน แล้วท่านจะสามารถปฏิบัติการงานทุกอย่างได้ด้วยความราบรื่น เบิกบานใจอย่างมีประสิทธิภาพและประสบผลสำเร็จตามที่ปรารภปรารถนาทุกสิ่งในที่สุด"
*พระบรมราโชวาท
ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วันเสาร์ที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๒๙


          การมีภูมิคุ้มกันที่ดี หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงรอบตัว ปัจจัยเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้นั้นจะต้องอาศัยความรู้และคุณธรรมเป็นเงื่อนไขพื้นฐาน กล่าวคือ เงื่อนไขความรู้ หมายถึง ความรอบรู้ ความรอบคอบและความระมัดระวังในการดำเนินชีวิตและการประกอบการงาน ส่วนเงื่อนไขคุณธรรม คือ การยึดถือคณธรรมต่างๆ อาทิ ความซื่อสัตย์สุจริต ความอดทน ความเพียร การมุ่งต่อประโยชน์ส่วนรวมและการแบ่งปัน ฯลฯ ตลอดเวลาที่ประยุกต์ใช้ปรัชญา

"...รากฐานที่นับว่าสำคัญ คือ รากฐานทางจิตใจ อันได้แก่ ความหนักแน่น มั่นคงในสุจริตธรรมอย่างหนึ่ง ในความมุ่งมั่นที่จะประกอบกิจการงานให้ดีจนสำเร็จอีกอย่างหนึ่ง เหตุใดจึงต้องมีความสุจริตและความมุ่งมั่น ก็เพราะความสุจริตนั้นย่อมกีดกั้นคนออกจากความชั่วและความเสื่อมเสียทั้งหมดได้..."
*พระบรมราโชวาท
ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยรามคำแหง
วันพุธที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๒๔

"...ในการสร้างอนาคตที่มั่นคงรุ่งโรจน์นั้น นอกจากวิชาความรู้ที่เจนจัดแล้ว บุคคลยังจำเป็นต้องอาศัยคุณสมบัติและความสามารถพิเศษอีกหลายด้านเป็นเครื่องอุดหนุนและส่งเสริมความรู้ของตนด้วย. ข้อแรก จะต้องเป็นคนที่ทำตัวทำงานอย่างมีหลักการ มีระเบียบ มีเหตุผลทีถูกต้อง เป็นประโยชน์ เป็นธรรม. ข้อสอง ต้องมีความเพียรพยายามอย่างสม่ำเสมอ ทั้งในการทำงานและการทำความดี แม้จะมีความเหนื่อยยากหรือมีอุปสรรคขัดขวางมากมายเพียงใดก็ไม่ย่อท้อถอยหลัง. ข้อสาม ต้องเอาใจใส่ศึกษา ค้นคว้าหาวิชาและความรอบรู้ในเรื่องต่างๆให้ลึกซึ้งและกว้างขวางรอบด้าน ไว้สำหรับใช้เทียบเคียง ประกอบการพิจารณาตัดสินปัญหาต่างๆในการงาน. ข้อสี่ ซึ่งสำคัญที่สุด ต้องสามารถควบคุมกายใจ คือ การกระทำความคิดของตนให้สงบ หนักแน่น แน่วแน่ในความเป็นกลางอยู่เสมอ แม้ในเวลามีเหตุชวนให้วุ่นวายสับสน. ความสามารถทำกายทำใจให้สงบ หนักแน่น เป็นกลางห่างจากอคตินี้ จะช่วยให้เกิดสติระลึกรู้ถึงเหตุถึงผล ถึงข้อเท็จจริงและความถูกผิดของเรื่องทั้งปวง จึงเป็นอุปการะสำคัญของการคิดพิจารณาปัญหาต่างๆ เพราะช่วยให้มองเห็นปัญหาได้กระจ่าง แจ่มชัด สามารถตัดสินชี้ขาดได้โดยถูกต้องเที่ยงตรง เป็นธรรม เป็นประโยชนเสมอ..."
*พระบรมราโชวาท
ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
วันพฤหัสบดีที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๒๖

          ระบบเศรษฐกิจแบบพอเพียงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริและพระราชทานไว้ให้เป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศแก่คนไทยนั้น วัตถุประสงค์หรือเป้าหมายหลักของเศรษฐกิจพอเพียงก็คือ ความสงบสุขของผู้คนในสังคม ประชาชนมีกินมีใช้อย่างเพียงพอแก่ความต้องการ ที่สำคัญต้องไม่ทำตนและผู้อื่นเดือนร้อน ซึ่งเมื่อได้วิเคราะห์โดยละเอียดจะพบว่า ระบบเศรษฐกิจแบบพอเพียงนั้นมีความสอดคล้องกับหลักธรรมในพระพุทธศาสนา ได้แก่

หลักมัชฌิมาปฏิปทา (การปฏิบัติตนในทางสายกลาง)

          มัชฌิมาปฏิปทาในทางพุทธศาสนา หมายถึง ทางสายกลาง คือ การไม่ยึดถือสุดทางทั้ง ๒ ได้แก่ อัตตกิลมถานุโยค คือ การประกอบตนเองให้ลำบากเกินไป และ กามสุขัลลิกานุโยค คือ การพัวพันในกาม ในความสบาย เป็นหลักคำสอนที่ปรากฏในพระธรรมเทศนากัณฑ์แรกของพระพุทธเจ้าที่ทรงแสดงแก่ปัญจวัคคีย์ คือ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร
          นอกจากคุณค่าขั้นสูงสุดของหลักมัชฌิมาปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อการพ้นทุกข์แล้ว คุณค่าในเบื้องต้นยังเป็นไปเพื่อการรู้จักการดำเนินชีวิตให้เกิดความพอดี เป็นแนวทางของการแก้ทุกข์ที่เรียกว่า “อริยมรรคมีองค์ ๘” โดยมุ่งเน้นให้มีความสุขกายและสุขใจไปด้วย

อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ (ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน)

          หลักอตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ เป็นคำสอนให้บุคคลพึ่งตนเอง ซึ่งแนวทางของระบบเศรษฐกิจพอเพียงก็ได้มุ่งเน้นให้พึ่งตนเองในการทำมาหาเลี้ยงชีพ ในการสร้างฐานะ และการเก็บรักษาทรัพย์ที่หามาได้เพื่อจับจ่ายใช้สอยในยามจำเป็น นอกจากเป็นที่พึ่งแห่งตนแล้วจะต้องเป็นที่พึ่งของบุคคลอื่นด้วย นอกจากในระดับบุคคลแล้ว ยังมุ่งเน้นให้การพัฒนาประเทศชาติให้พึ่งตนเองในลักษณะ “เศรษฐกิจพอเพียง” นั่นคือการพัฒนาที่ไม่อิงเศรษฐกิจโลกจนเกินไป

หลักสันโดษ

          หลักสันโดษนี้มุ่งให้บุคคลพึงพอใจในสิ่งของหรือทรัพย์สินที่ตนเองได้มาและใช้จ่ายในสิ่งที่ก่อให้เกิดประโยชน์ ให้บุคคลรู้จักประมาณ ได้แก่ การประหยัดและรู้จักออม ไม่ฟุ่มเฟือยฟุ้งเฟ้อมีความเป็นอยู่อย่างสงบเรียบง่าย และโปร่งใส ไม่ทะเยอทะยานต่อสู้และเบียดเบียนบุคคลอื่น ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข

ความสอดคล้องของหลักเศรษฐกิจพอเพียงกับหลักธรรมในพุทธศาสนา

1. เน้นความเป็นเศรษฐกิจแบบองค์รวม กล่าวคือ เป็นระบบการพัฒนาชีวิตของปัจเจกบุคคลควบคู่กันไปกับการพัฒนาสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม โดยมีจริยธรรมคือความเมตตา ความเกื้อกูลสงเคราะห์ ความสามัคคี ความไม่เห็นแก่ตัว ดังหลักของระบบเศรษฐกิจพอเพียงที่กล่าวไว้ว่า มนุษย์อยู่ดี ชุมชนอยู่ได้ ธรรมชาติยั่งยืน
2. เป็นระบบเศรษฐกิจแบบมัชฌิมาที่มีสัมมาอาชีวะเป็นหัวใจสำคัญ ซึ่งสามารถโยงไปสู่การที่พระพุทธศาสนามีท่าทีปฏิเสธความสุดโต่ง ๒ ด้าน คือ การหมกมุ่นในกามสุขอย่างเดียว และ การทรมานตนเองในรูปแบบต่างๆ
3. เป็นระบบเศรษฐกิจที่มุ่งพัฒนาทั้งคนและทั้งกระบวนการทางเศรษฐกิจ ซึ่งถ้าคนไทยปฏิบัติตามระบบเศรษฐกิจแบบพอเพียงก็จะส่งผลให้เกิดภาวะ “เศรษฐกิจก็งอกงาม ธรรมก็งอกเงย คนก็มีความสุข”
4. เป็นระบบเศรษฐกิจที่ไม่เบียดเบียนใครให้เดือดร้อน ไม่มุ่งทำลายทรัพยากรธรรมชาติจนกลายเป็นการทำร้ายธรรมชาติ
5. เป็นระบบเศรษฐกิจที่ฝึกให้มนุษย์ตระหนักรู้ถึงศักยภาพในด้านการสามารถพึ่งตนเองได้ของมนุษย์


อ้างอิง
ภูมิพลอดุลยเดช,พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหา.
       คำพ่อสอน : ประมวลพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสเกี่ยว
       กับเศรษฐกิจพอเพียง/มูลนิธิพระดาบส.กรุงเทพฯ : 
       โรงพิมพ์กรุงเทพ,๒๕๕๑.



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น